Categories
บทความ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นสภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในวงจรธุรกิจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติในช่วงจังหวะของการขยายตัวและการหดตัวที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

คำนิยามอย่างเป็นทางการของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ในช่วงภาวะถดถอย สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนจำนวนมากตกงาน บริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ทำยอดขายได้น้อยลง รวมถึงผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะลดลง จุดที่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายประการ

ในปี ค.ศ. 1974 นักเศรษฐศาสตร์ Julius Shiskin ได้นำเสนอหลักเกณฑ์ทั่วไป 2-3 ข้อในการกำหนดคำนิยามของคำว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย: หลักเกณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การที่ GDP ลดลงสองไตรมาสติดต่อกัน

Shiskin กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ดีจะมีการขยายตัวเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ลดลงถึงสองไตรมาสติดต่อกันจึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบพื้นฐานกำลังมีปัญหาขั้นรุนแรง และคำนิยามนี้เองได้กลายเป็นมาตรฐานทั่วไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (หรือ NBER) เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) มีคำนิยามของตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั่นคือ “การลดลงอย่างมากของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้แผ่กระจายไปทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจและมีระยะเวลานานกว่าสองสามเดือน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเห็นได้จาก GDP ที่แท้จริง รายได้ที่เกิดขึ้นจริง การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยอดขายส่ง-ขายปลีก”

และคำนิยามของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาตินี้มีความยืดหยุ่นกว่าหลักเกณฑ์ของ Shiskin ในการจำกัดความว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยคืออะไร ตัวอย่างเช่น วิกฤติการณ์ Covid-19 อาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรูปตัว W หรือหมายถึง เศรษฐกิจที่ดิ่งลงหนึ่งไตรมาสแล้วค่อยเริ่มฟื้นตัว แต่ก็จะถดถอยลงอีกในอนาคต ซึ่งมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ คล้ายกับตัว W แต่สภาวะทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะไม่ถือว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามหลักเกณฑ์ของ Shiskin

สิ่งใดที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย?

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและกะทันหันไปจนถึงผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย:

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและกะทันหัน: การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวซึ่งสร้างความเสียหายทางการเงินขั้นร้ายแรง ในปี ค.ศ. 1970 กลุ่มประเทศ OPEC หยุดการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐอเมริกาโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนรอต่อคิวยาวเหยียดตามสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง วิกฤติการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักเมื่อไม่นานมานี้เองก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและกะทันหัน

หนี้สินมากเกินไป: เมื่อบุคคลธรรมดาหรือภาคธุรกิจมีหนี้สินมากเกินไป ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้อาจเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ การผิดนัดชำระหนี้และภาวะล้มละลายที่เพิ่มขึ้นทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2004-2006 ที่นำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (the Great Recession) คือตัวอย่างสำคัญของการมีหนี้สินมากเกินไปจนก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ฟองสบู่สินทรัพย์ลงทุน: เมื่อการตัดสินใจลงทุนขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์มากกว่าการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงอาจตามมาในเวลาไม่นาน
เป็นเพราะนักลงทุนอาจมองโลกในแง่ดีมากเกินไปในช่วงเศรษฐกิจเข้มแข็ง อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) Alan Greenspan กล่าวถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเช่นนี้ไว้อย่างเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น “อาการตื่นเต้นดีใจที่ไม่สมเหตุสมผล” หรือ “irrational exuberance” ในการอธิบายถึงกำไรที่มากเป็นพิเศษในตลาดหุ้นช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ปรากฏการณ์นี้เองทำให้ตลาดหุ้นเกิดเงินเฟ้อหรือฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อฟองสบู่แตก นักลงทุนตื่นตกใจรีบเทขายทรัพย์สินที่ถือครอง จึงทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดและทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป: ภาวะเงินเฟ้อ คือ สภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลา ภาวะเงินเฟ้อโดยตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่อัตราเงินเฟ้อที่มากเกินไปเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่อันตราย ธนาคารกลางจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้เองจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา ภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ ในช่วงปี ค.ศ. 1970 และเพื่อหยุดยั้งวงจรภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ภาวะเงินฝืดมากเกินไป: ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงมากเกินไปสามารถทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่ภาวะเงินฝืดอาจเลวร้ายกว่านั้น ภาวะเงินฝืด คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ ทำให้ค่าจ้างแรงงานลดลงและยิ่งเป็นการกดราคาให้ต่ำลง เมื่อภาวะเงินฝืดกลายเป็นวัฏจักรต่อเนื่องและแย่ลงเรื่อยๆ จะส่งผลให้ผู้คนและภาคธุรกิจต่างลดการใช้จ่ายลงซึ่งเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ ธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์มีหนทางที่ค่อนข้างจำกัดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของภาวะเงินฝืด เช่นเดียวกับการพยายามแก้ไขภาวะเงินฝืดของประเทศญี่ปุ่นตลอดช่วงทศวรรษ 1990 ที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี: นวัตกรรมใหม่ๆ สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตและช่วยเศรษฐกิจในระยะยาว แต่อาจต้องใช้เวลาซักระยะในการปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงานเกิดขึ้นเป็นระลอก การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้อาชีพต่างๆ ในสมัยนั้นกลายเป็นสิ่งล้าสมัยทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและช่วงเวลาที่ยากลำบาก และในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์บางคนมีความกังวลว่าเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวัฏจักรทางเศรษฐกิจ

วัฏจักรทางเศรษฐกิจ หมายถึง การที่ระบบเศรษฐกิจมีการสลับกันไปมาระหว่างช่วงขยายตัว (expansion) และช่วงถดถอย (recession) เมื่อระบบเศรษฐกิจเริ่มมีการขยายตัว ก็จะเริ่มมีสัญญาณการเจริญเติบโตที่ดีและยั่งยืน เมื่อเวลาผ่านไป บรรดาผู้ให้สินเชื่อก็จะทำให้การปล่อยกู้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้น ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เริ่มมีราคาสูงขึ้นจากการที่นักลงทุนแห่กันลงทุนมากตามกระแส

เมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านไประยะหนึ่ง มูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและภาระหนี้สิ้นก็มีมากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่งของวัฏจักร หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นเกิดขึ้น ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ผลกระทบดังกล่าวทำให้ฟองสบู่สินทรัพย์แตก ตลาดหุ้นร่วงหนักและทำให้ภาระหนี้สินก้อนโตที่เกิดขึ้นมีราคาสูงเกินกว่าที่จะรักษาไว้ได้ ส่งผลให้การเจริญเติบโตหดตัวและเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) แตกต่างกันอย่างไร?

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมีสาเหตุคล้ายคลึงกัน แต่ผลกระทบโดยรวมของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นแย่กว่ามาก เช่น ผู้คนตกงานมากขึ้น การว่างงานสูงขึ้นและตัวเลข GDP ร่วงหนัก ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะยืดเยื้อนานกว่า โดยจะอยู่นานเป็นปี ไม่ใช่แค่เป็นเดือน และต้องใช้เวลานานกว่าที่เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว

นักเศรษฐศาสตร์ไม่มีคำจำกัดความหรือมาตรวัดตายตัวเพื่อกำหนดว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นอย่างไร แต่พอจะกล่าวได้ว่าผลกระทบโดยรวมทั้งหมดของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นรุนแรงและยืดเยื้อนานกว่ามาก ในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพียงครั้งเดียว นั่นคือ: ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักกันดีว่า The Great Depression

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1929 และดำเนินต่อไปจนถึงปี 1933 และเศรษฐกิจไม่มีการฟื้นตัวจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออีกเกือบ 10 กว่าปีต่อมา ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การว่างงานเพิ่มสูงถึง 25% และ GDP ลดลงถึง 30% นับเป็นการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เป็นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ การว่างงานพุ่งสูงสุดถึง 10% โดยประมาณและภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2007 ถึงมิถุนายน ปี ค.ศ. 2009 หรือประมาณหนึ่งปีครึ่ง

นักเศรษฐศาสตร์บางคนกลัวว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤติการณ์ Covid-19 อาจแปรสภาพเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขึ้นอยู่กับว่าวิกฤติจะยืดเยื้อนานแค่ไหน ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2020 การว่างงานพุ่งแตะถึง 14.7% ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยืดเยื้อนานแค่ไหน?

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ติดตามข้อมูลช่วงเวลาการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1945 ถึงปี 2009 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉลี่ยกินเวลาถึง 11 เดือนจากข้อมูลของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ซึ่งถือว่าดีกว่ายุคก่อนๆ มาก เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีตตั้งแต่ปี 1854 ถึง 1919 โดยเฉลี่ยกินเวลายาวนานถึง 21.6 เดือน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้ว 4 ครั้ง ดังต่อไปนี้:

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการณ์ Covid-19 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งล่าสุดเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 และมีระยะเวลาเพียงสองเดือน ทำให้เป็นภาวะถดถอยที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (เดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ไม่รุนแรงเท่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ด้วยระยะเวลาที่ยืดเยื้อยาวนานและผลกระทบรุนแรงทำให้มีชื่อเรียกคล้ายกัน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่นี้กินเวลานานถึง 18 เดือน ยาวนานเกือบสองเท่าของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ในสหรัฐอเมริกา

ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม (เดือนมีนาคม ค.ศ. 2001 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001) ในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษสู่ปี ค.ศ. 2000 สหรัฐอเมริกาเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญหลายประการ เช่น ผลกระทบจากฟองสบู่ของธุรกิจเทคโนโลยีแตก เรื่องอื้อฉาวทางบัญชีของบริษัทต่างๆ เช่น Enron และตามมาด้วยเหตุวินาศกรรม 11 กันยายนหรือเหตุการณ์ 9/11 ปัญหาเหล่านี้ต่างรวมกันผลักดันให้เกิดภาวะถดถอยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย (กรกฎาคม ค.ศ. 1990 ถึงมีนาคม ค.ศ. 1991) ในช่วงต้นทศวรรษปี ค.ศ. 1990 สหรัฐอเมริกาประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแปดเดือน ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสามารถคาดการณ์ได้หรือไม่?

การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตนั้นมีความไม่แน่นอนและไม่ใช่เรื่องง่าย
ตัวอย่างเช่น การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ที่อยู่ดีๆ เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงต้นปี 2020 และภายในเวลาไม่กี่เดือน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ทั้งหมดหยุดชะงัก ผู้คนหลายล้านคนต้องตกงาน สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) จึงได้ประกาศภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 โดยระบุว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหดตัวลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020

ดังที่กล่าวไว้ สัญญาณบอกเหตุของปัญหาภาวะเศรษฐกิจจะค่อยๆ เริ่มปรากฏขึ้น สัญญาณเตือนต่อไปนี้จะช่วยให้คุณมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นในการหาวิธีรับมือก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้น:

เส้นกราฟแสดงอัตราผลตอบแทนพลิกคว่ำ (inverted yield curve): เส้นแสดงผลอัตราตอบแทน คือ เส้นกราฟที่แสดงผลมูลค่าตลาดหรือช่วงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่พันธบัตรรุ่นอายุ 4 เดือนไปจนถึงพันธบัตรรุ่นอายุ 30 ปี เมื่อเศรษฐกิจเดินหน้าตามปกติ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวควรสูงขึ้น แต่เมื่ออัตราผลตอบแทนระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้น หมายความว่า นักลงทุนกำลังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปรากฏการณ์นี้รู้จักกันในชื่อ เส้นกราฟแสดงอัตราผลตอบแทนพลิกคว่ำ (yield curve inversion) ซึ่งเคยคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง: การใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากการสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ เมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง นั่นหมายความว่า ผู้คนต่างให้ข้อมูลกับผู้ทำแบบสำรวจนี้ว่าตนมีความลังเลในการใช้จ่ายเงิน และหากความกลัวครอบงำผู้บริโภค การใช้จ่ายที่ลดลงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ (LEI) ลดลง: ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ (LEI) มีการเผยแพร่รายเดือนโดย Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ พยายามคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การขอประกันตนกรณีว่างงาน คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิตและประสิทธิภาพการให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้น หากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ (LEI) มีค่าลดลง ปัญหาอาจกำลังก่อตัวขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างฉับพลัน: หากมูลค่าของตลาดหุ้นลดลงอย่างมากและเกิดขึ้นโดยฉับพลัน อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากนักลงทุนพยายามเทขายหุ้นบางส่วนหรือแม้แต่สินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ทั้งหมดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจที่กำลังจะชะลอตัว

การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น: เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากผู้คนกำลังตกงาน นั่นคือสัญญาณหายนะต่อระบบเศรษฐกิจ เพียงแค่สองสามเดือนของอัตราการว่างงานสูงแบบฉับพลัน นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะตีความว่าเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังคืบคลานเข้ามา ถึงแม้ว่าสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ยังไม่ได้ออกประกาศถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการเลยก็ตาม

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบต่อเราทุกคนอย่างไร?

ระดับการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้คุณตกงานได้ นอกจากคุณจะพบกับความเสี่ยงต่อการตกงานมากขึ้นแล้ว คุณอาจหางานใหม่ได้ยากกว่าเดิม เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากกำลังตกงานเช่นกัน สำหรับผู้ที่พยายามรักษางานของตัวเองไว้ก็อาจโดนลดเงินเดือน ค่าจ้างและเงินตอบแทนต่างๆ รวมถึงอาจมีปัญหาในการต่อรองขอขึ้นเงินเดือนในอนาคต

คุณอาจสูญเสียเงินในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ หากมีการลงทุนในหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นๆ เงินออมของคุณอาจลดลง ซึ่งจะกระทบต่อแผนการเกษียณอายุของคุณ ในกรณีที่แย่ไปกว่านั้น หากคุณไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้เนื่องจากกำลังตกงาน คุณอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้านและทรัพย์สินอื่นๆ

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เจ้าของธุรกิจจะทำยอดขายได้น้อยลง หรือแม้แต่ถึงขั้นล้มละลายได้ รัฐบาลจึงพยายามให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ เช่น โปรแกรมให้สินเชื่อเพื่อคุ้มครองธุรกิจ (Paycheck Protection Program หรือ PPP) ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถประคองธุรกิจทั้งหมดให้อยู่รอดได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง

และหากยังมีผู้คนจำนวนมากไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ปล่อยเงินกู้จึงต้องเข้มงวดกับมาตรฐานการจำนอง การให้สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อประเภทอื่นๆ คุณต้องมีคะแนนเครดิตที่ดีหรือต้องใช้เงินดาวน์มากขึ้นถ้าเทียบกับช่วงสภาวะเศรษฐกิจปกติเพื่อให้มีคุณสมบัติสำหรับการขอสินเชื่อ

แม้ว่าคุณได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว การที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังน่าหวั่นใจไม่น้อย แต่ถ้าให้มองโลกในแง่ดีก็คือ สภาวะถดถอยเช่นนี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป แม้แต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ก็ยังมีวันสิ้นสุด และเมื่อผ่านพ้นไปแล้ว ต่อมาไม่นาน ช่วงเวลาเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาก็ได้เกิดขึ้นตามมา

แปลบทความจากต้นฉบับ: What Is A Recession? – Forbes Advisor