เมื่อคุณซื้อพันธบัตร (ตราสารหนี้)
คุณกำลังให้เงินกู้แก่ผู้ออกพันธบัตรซึ่งมีข้อตกลงจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินให้คุณตามวันที่กำหนด อย่างไรก็ตาม หุ้นต่างๆ เป็นที่สนใจในรายงานข่าวหรือสื่อต่างๆ มากกว่าพันธบัตร แต่จริงๆ แล้ว ตลาดพันธบัตรโลกมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหลักทรัพย์ (ตราสารทุน) ตามมูลค่าตามราคาตลาด โดยในปี 2018 สมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงิน (SIFMA) ประมาณการว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีมูลค่า 74.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 102.8 ล้านล้าน USD
พันธบัตร/ตราสารหนี้คืออะไร
พันธบัตร คือ หลักทรัพย์เพื่อการลงทุนที่นักลงทุนให้เงินกู้แก่บริษัทหรือรัฐบาลในช่วงระยะเวลาหนึ่งตามกำหนดเพื่อแลกกับการจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ เมื่อพันธบัตรถึงวันครบกำหนด ผู้ออกพันธบัตรจะคืนเงินให้นักลงทุน รายได้คงที่ (fixed income) เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้กล่าวถึงพันธบัตร เนื่องจากการลงทุนในพันธบัตร คุณจะได้รับการจ่ายเงินแบบคงที่ตลอดอายุของพันธบัตรที่คุณซื้อ บริษัทต่างๆ ขายพันธบัตรเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ โครงการใหม่หรือการเข้าซื้อกิจการ ส่วนรัฐบาลขายพันธบัตรเพื่อวัตถุประสงค์ในการระดมทุน และเพื่อเสริมรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากภาษี เมื่อคุณลงทุนในพันธบัตร คุณคือเจ้าหนี้ของกิจการที่ออกพันธบัตรนั้นๆ พันธบัตรหลายประเภท โดยเฉพาะพันธบัตรระดับการลงทุน (ตราสารหนี้ระดับลงทุน) ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารทุน ทำให้พันธบัตรชนิดนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักสำหรับพอร์ตการลงทุนที่มีความหลากหลายรอบด้านเพื่อลดความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนสูงสุด พันธบัตรสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของการลงทุนที่มีความผันผวนของราคา เช่น หุ้น และสามารถทำให้กระแสของรายได้มีความสม่ำเสมอในช่วงปีเกษียณของคุณและยังช่วยรักษาเงินทุนไว้ได้
คำศัพท์ที่สำคัญเพื่อใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพันธบัตร/ตราสารหนี้
ก่อนที่เราจะมาความรู้จักกับพันธบัตรประเภทต่างๆ วิธีกำหนดราคาและซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ เราควรทำความเข้าใจคำศัพท์สำคัญที่ใช้กับพันธบัตรทุกประเภทดังนี้:
วันครบกำหนดอายุของพันธบัตร (Maturity):
วันที่ผู้ออกพันธบัตรต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ลงทุนในพันธบัตร และพันธบัตรมีวันครบกำหนดอายุทั้งแบบระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
มูลค่าที่ตราไว้ (Face Value):
หรือเรียกกันอีกอย่างว่า Par Value โดยมูลค่าที่ตราไว้ หมายถึง จำนวนเงิน/มูลค่าที่คุณจะได้รับในวันครบกำหนดอายุของพันธบัตร มูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตรยังถือเป็นพื้นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตร โดยทั่วไปแล้ว พันธบัตรส่วนใหญ่มีมูลค่าที่ตราไว้ 1,000 USD
คูปอง (Coupon):
อัตราคงที่ของดอกเบี้ยที่ผู้ออกพันธบัตรจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ตัวอย่างเช่น 1,000 USD หากพันธบัตรมีมูลค่าที่ตราไว้ 3% ผู้ออกพันธบัตรสัญญาว่าจะจ่ายเงินให้นักลงทุน 30 USD ต่อปีจนกว่าจะครบกำหนดอายุของพันธบัตร (3% ของมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 USD เท่ากับ 30 USD ต่อปี)
อัตราผลตอบแทน (Yield):
อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตร ถึงแม้ว่าคูปองจะมีอัตรากำหนดไว้คงที่ แต่อัตราผลตอบแทนจะมีความผันแปร ขึ้นอยู่กับราคาของพันธบัตรในตลาดรองและปัจจัยอื่นๆ ผลตอบแทนจะอยู่ในรูปของอัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (current yield) อัตราผลตอบแทนเมื่อถึงวันครบกำหนดอายุ (yield to maturity) และอัตราผลตอบแทนถึงวันไถ่ถอนก่อนกำหนด (yield to call หรือ YTC) (อ่านเพิ่มเติมด้านล่าง)
ราคา (Price):
โดยส่วนใหญ่ พันธบัตรจะมีการซื้อขายกันหลังจากที่ได้มีการออกพันธบัตรแล้ว ในตลาดการเงิน พันธบัตรมีสองราคา นั่นก็คือ: ราคาซื้อ (Bid) และราคาขาย (Ask) ราคาซื้อ (Bid) คือราคาสูงสุดที่ผู้ซื้อต้องการที่จะจ่ายเพื่อซื้อพันธบัตร ในขณะที่ราคาขาย (Ask) คือราคาต่ำสุดที่ผู้ขายพันธบัตรเสนอขายให้กับผู้ซื้อ
ความเสี่ยงจากอายุของพันธบัตร (Duration risk):
นี่คือตัวชี้วัดว่าราคาของพันธบัตรอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมีความผันผวน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าราคาพันธบัตรจะลดลง 1% ต่อการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 1% ยิ่งพันธบัตรมีระยะเวลานานมากเท่าไหร่ ราคาของพันธบัตรก็จะยิ่งสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
การจัดอันดับ (Rating):
หน่วยงานจัดอันดับทำหน้าที่จัดอันดับให้กับพันธบัตรและผู้ออกพันธบัตรโดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ การจัดอันดับพันธบัตรช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนในพันธบัตรนั้นๆ และพันธบัตรระดับการลงทุนมีการจัดให้อยู่ในอันดับ BBB ขึ้นไป
พันธบัตรประเภทต่าง ๆ มีแบบใดบ้าง?
พันธบัตรมีหลายประเภทจนนับไม่ถ้วน ในสหรัฐอเมริกา พันธบัตรระดับการลงทุนสามารถจำแนกออกอย่างกว้างๆ ออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ หุ้นกู้บริษัท พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรหน่วยงานและหุ้นกู้เทศบาล ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ออกพันธบัตรดังกล่าว
พันธบัตรทั้งสี่ประเภทนี้ยังมีภาระทางภาษีที่แตกต่างกันซึ่งเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญสำหรับผู้ลงทุนในพันธบัตร
หุ้นกู้บริษัท (Corporate Bonds)
หุ้นกู้ของบริษัทออกโดยบริษัทมหาชนและบริษัทเอกชนเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน ขยายขอบเขตการผลิต ให้ทุนเพื่อการวิจัยหรือเพื่อเป็นเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการต่างๆ และหุ้นกู้ของบริษัทต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่มลรัฐและรัฐบาลกลาง
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bonds)
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกโดยรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นพันธบัตรตั๋วเงินคลัง (treasuries หรือ Treasury Bill) เพราะออกโดยกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา เงินที่ได้จากการขายพันธบัตรตั๋วเงินคลังจะใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินกิจการต่างๆ ทุกด้านของรัฐบาล ซึ่งต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลกลาง แต่ได้รับการยกเว้นจากภาษีของมลรัฐและท้องถิ่น
พันธบัตรหน่วยงาน (Agency Bonds)
องค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐ (GSEs) เช่น Fannie Mae และ Freddie Mac ออกพันธบัตรหน่วยงานเพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับการจำนองของรัฐบาลกลาง โครงการสินเชื่อเพื่อการศึกษาและการเกษตรของรัฐบาลกลาง พันธบัตรประเภทนี้ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลกลาง แต่บางประเภทจะได้รับการยกเว้นจากภาษีของมลรัฐและท้องถิ่น
หุ้นกู้เทศบาล (Municipal Bonds)
มลรัฐ เมืองและเขตปกครองออกพันธบัตรเทศบาลเพื่อใช้เป็นเงินทุนแก่โครงการต่างๆ ในท้องถิ่น ดอกเบี้ยที่ได้รับจากพันธบัตรเทศบาลนั้นปลอดภาษีในระดับรัฐบาลกลางและส่วนใหญ่ได้รับการเว้นภาษีจากมลรัฐเช่นกัน ทำให้เป็นการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มีรายได้สุทธิสูงและผู้ที่กำลังมองหารายได้ปลอดภาษีในช่วงเกษียณอายุ
คุณสมบัติของพันธบัตร (Bond Features)
เรายังสามารถจัดประเภทของพันธบัตรได้ตามวิธีการจ่ายดอกเบี้ยและคุณสมบัติอื่นๆ บางประการดังต่อไปนี้:
พันธบัตรที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero-Coupon Bonds):
ชื่อพันธบัตรบ่งบอกชัดเจนว่าพันธบัตรประเภทนี้ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด แต่ทว่านักลงทุนจะซื้อพันธบัตรที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยนี้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (ราคาหน้าตั๋ว) และจะได้รับเงินคืนเต็มราคาตามมูลค่าเมื่อถึงวันครบกำหนด
พันธบัตรที่ให้สิทธิผู้ออกในการไถ่ถอน (Callable Bonds):
พันธบัตรประเภทนี้ช่วยให้ผู้ออกพันธบัตรสามารถชำระหนี้หรือ “เรียกคืนพันธบัตร” ได้ก่อนวันครบกำหนด โดยจะมีการตกลงเงื่อนไขในการเรียกคืน/ไถ่ถอนก่อนจะมีการออกพันธบัตรดังกล่าว
พันธบัตรที่ให้สิทธิในการไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable Bonds):
นักลงทุนสามารถไถ่ถอนพันธบัตรประเภทนี้—หรือที่เรียกอีกอย่างนึงว่า put bond—ได้ก่อนวันครบกำหนด พันธบัตรประเภทนี้สามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้หนึ่งครั้งหรือหลายครั้งตามเงื่อนไขที่กำหนดของผู้ออกพันธบัตร
พันธบัตรแปลงสภาพ (Convertible Bonds):
พันธบัตรหรือหุ้นกู้บริษัทเหล่านี้อาจถูกแปรสภาพเป็นหุ้นของบริษัทที่ออกพันธบัตรก่อนถึงวันครบกำหนด
โดยนักลงทุนจะร่วมมือกับที่ปรึกษาทางการเงินในการช่วยเลือกพันธบัตรที่สร้างรายได้ มีข้อได้เปรียบด้านภาษีและคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเป้าหมายทางการเงินของนักลงทุน
การจัดอันดับพันธบัตรช่วยนักลงทุนได้อย่างไร?
พันธบัตรทุกประเภทต่างมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระเงิน หากบริษัทหรือผู้ออกพันธบัตรรัฐบาลประกาศล้มละลาย หมายความว่า ผู้ออกพันธบัตรดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้ในพันธบัตรของตน ซึ่งทำให้นักลงทุนได้รับเงินทุนคืนได้ยาก
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรจะช่วยให้คุณเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพันธบัตรนั้นๆ การจัดอันดับพันธบัตรยังช่วยบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่ผู้ออกพันธบัตรจะสามารถจ่ายเงินให้กับนักลงทุนในอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรดังกล่าว
เช่นเดียวกับเครดิตบูโรที่กำหนดคะแนนความน่าเชื่อถือให้กับคุณโดยยึดตามประวัติทางการเงิน หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะประเมินสถานะทางการเงินของผู้ออกพันธบัตร
Standard and Poor’s, Fitch Ratings และ Moody’s เป็นหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือสามอันดับแรก ซึ่งทำหน้าที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับพันธบัตรแต่ละรายการ รวมถึงธนาคารที่สนับสนุนการออกพันธบัตรดังกล่าว
กล่าวโดยทั่วไป ยิ่งพันธบัตรมีอันดับความน่าเชื่อถือสูงมากเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ย (coupon) ก็จะยิ่งต่ำลง เนื่องจากจะมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระเงินน้อยลง ในทางกลับกัน ยิ่งพันธบัตรมีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำเท่าไหร่ ผู้ออกพันธบัตรก็ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ซื้อพันธบัตรและเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
พันธบัตรมีการกำหนดราคาอย่างไร?
พันธบัตรมีการกำหนดราคาในตลาดรองตามมูลค่าที่ตราไว้ (face value) สำหรับพันธบัตรที่มีการตั้งราคาสูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้จะมีการซื้อขายในราคาเพิ่ม (premium) ในขณะที่พันธบัตรที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้จะมีการซื้อขายในราคาลด (discount)
เช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ ราคาของพันธบัตรขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน แต่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือและอัตราดอกเบี้ยในตลาดก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาเช่นกัน
พิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ: ตามที่กล่าวข้างต้น พันธบัตรระดับการลงทุนที่ได้รับการจัดอันดับน่าเชื่อถือสูงจะจ่ายด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำกว่า (coupon ต่ำกว่า) เมื่อเทียบกับพันธบัตรที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือพันธบัตรที่มีระดับต่ำกว่าพันธบัตรระดับการลงทุน อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำ หมายความว่า พันธบัตรมีอัตราผลตอบแทนต่ำ ทำให้คุณได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น้อยกว่า
แต่หากความต้องการพันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงเกิดลดลงอย่างกระทันหัน พันธบัตรดังกล่าวก็จะเริ่มมีการซื้อขายในราคาลดจากมูลค่าที่ตราไว้
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นและผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นตลอดอายุของพันธบัตร—เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ถือเป็นส่วนใหญ่ของของราคาซื้อที่ต่ำกว่า
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะทำให้เกิดความซับซ้อน เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของพันธบัตรลดลง
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งออกพันธบัตรโดยมีมูลค่าที่ตราไว้ 1,000 USD และมีอัตราดอกเบี้ย 5% แต่อีกหนึ่งปีต่อมา อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และบริษัทเดียวกันนี้ก็ออกพันธบัตรใหม่พร้อมอัตรา 5.5% เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับอัตราตลาด
ทำให้ความต้องการต่อพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ย 5% น้อยลง เมื่อมีพันธบัตรชุดใหม่ให้ดอกเบี้ย 5.5%
เพื่อให้พันธบัตรชุดแรกยังคงน่าสนใจสำหรับนักลงทุน การใช้ตัวอย่างที่มีมูลค่าตราไว้ 1,000 USD ราคาของพันธบัตรชุดแรกที่มีอัตราดอกเบี้ย 5% จะมีการซื้อขายในราคาส่วนลด เช่น 900 USD
นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ย 5% จะได้รับส่วนลดจากราคาซื้อเพื่อให้ผลตอบแทนของพันธบัตรชุดแรกเทียบได้กับพันธบัตรชุดใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ย 5.5%
วิธีการลงทุนในพันธบัตร
คุณสามารถลงทุนในพันธบัตรด้วยการซื้อพันธบัตรฉบับใหม่ ซื้อพันธบัตรในตลาดรอง หรือด้วยการซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้หรือกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF)
พันธบัตรฉบับใหม่ (New Bonds):
คุณสามารถซื้อพันธบัตรต่างๆ ในช่วงระหว่างการนำเสนอขายพันธบัตรเป็นครั้งแรกผ่านบัญชีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์
ตลาดรอง (Secondary Market):
บัญชีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของคุณอาจเสนอตัวเลือกสำหรับการซื้อพันธบัตรในตลาดรอง
กองทุนรวม (Mutual Funds):
คุณสามารถซื้อเป็นหุ้นของกองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมเหล่านี้มักจะซื้อพันธบัตรไว้หลากหลายโดยมีกลยุทธ์การลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง
ซึ่งรวมถึงพันธบัตรที่มีอายุระยะยาวหรือหุ้นกู้บริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมถึงกลยุทธ์อื่นๆ อีกมากมาย
กองทุนตราสารหนี้จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุนจากคุณเพื่อชดเชยให้กับผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของกองทุนดังกล่าว
การลงทุนใน Bond ETFs:
คุณสามารถซื้อขายหุ้นของกองทุนรวมดัชนี (ETFs) ได้เหมือนซื้อหุ้น พันธบัตรกองทุนรวมดัชนี (หลังจากนี้จะเรียกว่า Bond ETFs) มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนรวม (Mutual Funds)
เมื่อซื้อพันธบัตรฉบับใหม่และพันธบัตรในตลาดรอง นักลงทุนอาจมีทางเลือกที่จำกัดมากขึ้น เพราะไม่ใช่นายหน้าซื้อขายทุกรายจะมีความสามารถในการซื้อพันธบัตรได้โดยตรง อีกทั้งการทำความเข้าใจราคาพันธบัตรอาจเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนมือใหม่
กองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมดัชนี (ETF) เข้าถึงได้ง่ายกว่ามากสำหรับนักลงทุนโดยทั่วไป คุณสามารถทบทวนรายละเอียดของกองทุนรวมหรือกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนรวมดัชนี (ETFs) และค้นหากองทุนที่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนของคุณได้ไม่ยาก มีโอกาสน้อยที่คุณจะประสบกับปัญหาสภาพคล่อง และโดยทั่วไปสามารถซื้อและขายหุ้นเหล่านี้ได้ไม่ยาก
ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหรือบริหารจัดการการลงทุนด้วยตนเอง การลงทุนในพันธบัตรควรเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การลงทุนของคุณ ในพอร์ตการลงทุนที่มีความหลากหลายรอบด้าน การลงทุนในพันธบัตรมีทั้งความมั่นคงและรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้